top of page
EmbeddedImage.jpg
ลูกเสือกับการพัฒนา

การลูกเสือทั่วโลกมีจุดประสงค์ หลักการ วิธีการ และอุดมการณ์เดียวกัน คือการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและการพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ขอบข่ายเนื้อหา ประกอบด้วย

     1 การพัฒนาตนเอง

     2 การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

     3 การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม

     4 การพัฒนาสัมพันธภาพต่อสิ่งแวดล้อม

1 การพัฒนาตนเอง

     การพัฒนาตนเอง หมายถึง ความต้องการของบุคคลในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนจากที่เป็นอยู่ให้มีความรู้ ความสามารถและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เพิ่มขึ้นและดีขึ้นในการพัฒนาทางกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา สังคม ความรู้ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

          1) การพัฒนาทางกาย หมายถึง การพัฒนาสุขภาพ อนามัย ให้ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ กริยาท่าทาง การแสดงออก การใช้น้ำเสียง วาจาการใช้คำพูดในการสื่อความหมายและการแต่งกายที่สะอาด เหมาะสมกับกาลเทศะ เหมาะกับรูปร่างและผิวพรรณ

          2) การพัฒนาทางจิตใจ หมายถึง การพัฒนาเจตคติที่ดี หรือความรู้สึกที่ดี หรือการมองโลกในแง่ดี รวมถึงการพัฒนาสุขภาพจิตของตนเองให้อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปกติและเป็นสุข โดยมีคุณธรรมเป็นหลักในการพัฒนาจิตใจ

          3) การพัฒนาทางอารมณ์ หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการควบคุมความรู้สึก นึกคิด การควบคุมอารมณ์ที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น โดยมีธรรมะเป็นหลักในการพัฒนาทางอารมณ์

          4) การพัฒนาทางสติปัญญา หมายถึง การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเอง การพัฒนาความสามารถในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การพัฒนากระบวนการทางความคิดเชิงวิเคราะห์ การตัดสินใจด้วยความเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบปฏิภาณภูมิคุ้มกันที่ดีในตนและมีวิถีการดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณ และมีเหตุผลที่ดี

          5) การพัฒนาทางสังคม หมายถึง การพัฒนาความเป็นพลเมืองดี คิดดีทำดี มีจิตสาธารณะ สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

          6) การพัฒนาทางความรู้ หมายถึง การพัฒนาความรอบรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          7) การพัฒนาทางอาชีพ หมายถึง การพัฒนาทักษะฝีมือ ความรู้ความสามารถ ความชำนาญการทางอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยการฝึกทักษะฝีมือ

          8) การพัฒนาสิ่งแวดล้อม หมายถึง การกระตุ้นและรักษา ตลอดจนแสวงหาแนวทางที่จะทำให้สิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในคุณค่าและการดูแลการรักษา

 

2 การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

     การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หมายถึง ความผูกพัน ความเกี่ยวข้องเป็นกระบวนการติดต่อระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อทำความรู้จักกันโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันด้วยความเต็มใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน อาศัยการแสดงออกทางกาย วาจา และใจ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจไม่จำกัดแน่นอน สามารถอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นต้องอาศัยความอดทนในการอยู่ร่วมกัน

การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มที่ตนเองดังนี้

          1) รู้จักปรับตนเองให้มีอารมณ์หนักแน่น ไม่หวาดระแวง ไม่อ่อนแอหรือแข็งกระด้าง ไม่เปลี่ยนแปลงหรือผันแปรง่าย

          2) รู้จักปรับตนเองให้เข้ากับบุคคลและสถานการณ์ รวมทั้งยอมรับและปฏิบัติตามกฎ กติกา ระเบียบต่าง ๆ รู้จักบทบาทของตนเอง

          3) รู้จักสังเกต รู้จด และรู้จำ การสังเกตจะช่วยให้เราสามารถเข้ากับทุกคนทุกชั้น ทุกเพศและทุกวัยได้ดี

          4) รู้จักตนเองและประมาณตน ช่วยให้คนลดทิฐิและเห็นความสำคัญของผู้อื่น ซึ่งช่วยสร้างความพึงพอใจให้แก่กัน

          5) รู้จักสาเหตุและใช้เหตุผลต่อผู้อื่น ช่วยลดความวู่วาม ทำให้การคบหากันไปด้วยดี

          6) มีความมั่นใจในตนเองและเป็นตัวของตัวเอง

 

3 การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม

     การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัยการศึกษา การมีงานทำ มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาคความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ตนเองดังนี้

          1) พัฒนาบุคลิกภาพให้ผู้พบเห็นเกิดความชื่นชมและประทับใจด้วยการพูดและกิริยาท่าทาง

          2) พัฒนาพฤติกรรมการแสดงออกด้วยความจริงใจ ใจกว้าง ใจดี

          3) ให้ความช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจกรรมและงานส่วนรวมด้วยความมีน้ำใจและเสียสละ

          4) ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

          5) ร่วมแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมให้ดีขึ้น

          6) พูดคุยกับทุกคนด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตรกับทุกคน

          7) ยึดหลักปฏิบัติตามค่านิยมพื้นฐาน คือ การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียรมีความรับผิดชอบ ประหยัดและออม มีระเบียบวินัยและเคารพ                       กฎหมาย ปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

 

4 การพัฒนาสัมพันธภาพต่อสิ่งแวดล้อม

     การพัฒนาสัมพันธภาพต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสำรวจสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจและร่วมมือในการจัดกิจกรรม ตลอดจนการบำรุงรักษาให้เกิดประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง

bottom of page